Western European Union–WEU (1955–2011)

สหภาพยุโรปตะวันตก (พ.ศ. ๒๔๙๘–๒๕๕๔)

สหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียูเป็นองค์การระหว่างประเทศในระบบพันธมิตรทางทหารที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๔ และเริ่มดำเนินงานใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นองค์การที่เกิดขึ้นจากการขยายและแก้ไขสนธิสัญญาบรัสเซลส์ (Treaty of Brussels)* ค.ศ. ๑๙๔๘ ประกอบด้วยสมาชิกผู้ก่อตั้ง ๗ ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและอิตาลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเอกภาพทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการป้องกันยุโรปตะวันตกอย่างไรก็ดี ในสมัยสงครามเย็น (Cold War)* สหภาพยุโรปตะวันตกไม่มีบทบาทในด้านการป้องกันยุโรปแต่ประการใดเพราะยุโรปตะวันตกพึ่งพิงการปกป้องทางทหารจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* เป็นหลัก จนเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงภาระงานและสถาบันของดับเบิลยูอียูจึงได้ค่อย ๆ ถูกถ่ายโอนเข้าสู่กรอบการดำเนินงานของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union–EU)* ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบทางด้านความมั่นคงและการป้องกันยุโรปภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ ได้แก่สนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ค.ศ. ๑๙๙๒ สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam)* ค.ศ. ๑๙๙๗ สนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice)* ค.ศ. ๒๐๐๑ และท้ายที่สุดคือสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon)* ค.ศ. ๒๐๐๗ ซึ่งมีผลให้การบูรณาการสหภาพยุโรปตะวันตกเข้ากับสหภาพยุโรปบรรลุผลใน ค.ศ. ๒๐๐๙ เมื่อสนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้และสหภาพยุโรปตะวันตกก็ได้ถูกยุบเลิกลงอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๑

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ไม่นานอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งยังคงหวาดกลัวภัยสงครามและการรุกรานจากเยอรมนีซึ่งแม้ว่าในขณะนั้นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและตกเป็นเขตยึดครองของ ๔ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรแล้วก็ตามได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาพันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส (Treaty of Alliance and Mutual Assistance between the United Kingdom and France) ณ เมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ สนธิสัญญาฉบับนี้ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อสนธิสัญญาดันเคิร์ก (Treaty of Dunkirk) มีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันตนเองจากการรุกรานของเยอรมนี อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามเย็นระหว่าง ๒ อภิมหาอำนาจปรากฏตัวอย่างชัดเจนซึ่งนำไปสู่การประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine)* และแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ของสหรัฐอเมริกา เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และช่วยเหลือยุโรปตะวันตกในด้านเศรษฐกิจใน ค.ศ. ๑๙๔๗ แล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษซึ่งวิตกกังวลกับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมากได้เชิญชวนฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ๓ ประเทศได้แก่เบลเยียมเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กให้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่งที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ สนธิสัญญาฉบับนี้ซึ่งได้ชื่อว่าสนธิสัญญาบรัสเซลส์เป็นการขยายสนธิสัญญาดันเคิร์กโดยเพิ่มมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันยุโรปให้มีความรัดกุมและครอบคลุมอาณาบริเวณให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งยังกำหนดให้มีการจัดตั้งองค์การทางทหารขึ้นเพื่อควบคุมดูแลการดำเนินงานด้านการป้องกันยุโรป ฉะนั้นเมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้จึงเกิดองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์หรือบีทีโอ (Brussels Treaty Organization–BTO)* ขึ้นในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ องค์การนี้ถือเป็นองค์การทางการเมืองและการทหารองค์การแรกของยุโรปตะวันตกในยุคสงครามเย็น

 สนธิสัญญาบรัสเซลส์มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมตัวกันต่อต้านการรุกรานจากคอมมิวนิสต์และสร้างระบบความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ของยุโรปตะวันตก นอกจากนี้สนธิสัญญายังกำหนดวัตถุประสงค์ในเรื่องการต่อต้านการรุกรานจากเยอรมนีไว้ตามเดิม ทั้งยังได้บรรจุมาตราว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสังคมไว้ด้วย เนื่องจากบรรดาประเทศที่ลงนามมีความเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกจะช่วยหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่สนธิสัญญาบรัสเซลส์เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามฉบับแรกที่มุ่งไปในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปร่วมกันสนธิสัญญาฉบับนี้จึงถูกพิจารณาว่าเป็นการวางพื้นฐานให้แก่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตที่สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำสำคัญจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ หลังบีทีโอเพียงปีเดียวเพราะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการป้องกันการรุกรานจากคอมมิวนิสต์ร่วมกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องการป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีซึ่งนาโตไม่มี รวมทั้งการที่ผู้จัดตั้งนาโตต่างตระหนักว่ายุโรปถูกแบ่งแยกออกเป็น๒ ส่วนที่เป็นศัตรูกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตใหญ่หลวงกว่าภัยคุกคามจากเยอรมนีมากนัก อีกทั้งยังเชื่อว่าการป้องกันยุโรปตะวันตกจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างยุโรปตะวันตกกับประเทศต่าง ๆ บนอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกด้วย ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกาและแคนาดานั่นเอง

 สำหรับองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์นั้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ได้มีการจัดตั้งองค์การทางทหารชื่อ องค์การป้องกันสหภาพตะวันตก (Western Union Defence Organization)* ขึ้นเพื่อดำเนินงานในด้านการป้องกันและการรักษาความมั่นคงร่วมกันทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๔ ของสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางทหาร และกำหนดให้ประเทศที่ร่วมลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการถาวรทางด้านการทหารขึ้น องค์การดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมาธิการป้องกันสหภาพตะวันตก(Western Union DefenceCommittee)ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของชาติสมาชิกและคณะกรรมาธิการเสนาธิการร่วมสหภาพตะวันตก (Western Union Combined Chief of Staff Committee) ซึ่งประกอบด้วยเสนาธิการทหารจากชาติสมาชิก มีหน้าที่ปฏิบัติการทางทหารโดยตรงนอกจากนี้ยังมีคณะกรรมาธิการบัญชาการทางบก เรือและอากาศ (Land, Naval and Air Commanderin-Committee) และมีหน่วยงานและคณะทำงานทางทหารอีกจำนวนหนึ่ง บีทีโอมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฟงแตนโบล (Fontainebleau) ประเทศฝรั่งเศสต่อมาระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ถึงเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ องค์การและหน่วยงานทางทหารเหล่านี้ได้ถูกโอนไปเป็นหน่วยงานของนาโต ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการสูงสุดพันธมิตรนาโตในยุโรป (NATO’s Supreme Headquarters Allied Powers in Europe–SHAPE) ทั้งหมด เพราะสมาชิกบีทีโอทุกประเทศเป็นสมาชิกนาโต ส่วนงานด้านวัฒนธรรมและสังคมได้ถูกโอนไปให้สภาแห่งยุโรป (Council of Europe)* รับผิดชอบทั้งหมดแม้ว่าสนธิสัญญาบรัสเซลส์ซึ่งมีอายุ ๕๐ ปีจะยังมีผลบังคับใช้ก็ตาม

 หลังเกิดสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ว่าจะอนุญาตให้สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกมีกองทัพติดอาวุธ และอาจรับเข้าเป็นสมาชิกนาโตในอนาคตทั้งนี้เพื่อให้เยอรมนีมีส่วนร่วมในการป้องกันยุโรปเพราะเกรงว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับเยอรมนีซึ่งอยู่ในสภาพแบ่งแยกเป็น ๒ ประเทศเหมือนเกาหลี นโยบายนี้ชาติสมาชิกนาโตในยุโรปตะวันตกทุกประเทศต่างก็เห็นด้วย ยกเว้นฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียวเพราะวิตกกังวลว่าการมีกองทัพติดอาวุธจะทำให้เยอรมนีตะวันตกฟื้นตัวเร็วเกินไปและอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของยุโรปในระยะยาวฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ฝรั่งเศสจึงประกาศแผนเปลอวอง (Pleven Plan)*ซึ่งเป็นแผนจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community–EDC)* หรือกองทัพยุโรป (European Army) ในรัฐสภาฝรั่งเศสเพื่อเชิญชวนเยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก สมาชิกอีก ๕ ประเทศของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community–ECSC)* ที่ได้เริ่มดำเนินการเจรจาจัดตั้งไปแล้วตั้งแต่กลาง ค.ศ. ๑๙๕๐ รวมทั้งประเทศอื่นๆที่สนใจให้เข้าร่วมในแผนนี้เพื่อต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศอื่นๆก็ไม่ได้แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมด้วยคงมีเพียงฝรั่งเศสกับชาติสมาชิกอีซีเอสซีอีก ๕ ประเทศเท่านั้น ฉะนั้นหลังการเจรจาต่อรองระหว่างกันและกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศทั้งหกก็ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ เพื่อจัดตั้งอีดีซีซึ่งจะเป็นองค์การเหนือรัฐเช่นเดียวกับอีซีเอสซี อย่างไรก็ดี อีดีซีก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสนธิสัญญาปารีสไม่ผ่านการออกเสียงเพื่อดำเนินการให้สัตยาบันในรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ทำให้บรรดานักยุโรปนิยมที่ต้องการให้มีการบูรณาการทางการเมืองและการทหารเกิดขึ้นต่างพากันผิดหวังเป็นอย่างมาก

 หลังความล้มเหลวของอีดีซีไม่นาน ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ รอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดให้มีการประชุมระหว่างชาติสมาชิกทั้งห้าขององค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์ขึ้น ณ กรุงลอนดอน โดยได้เชิญสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนีตะวันตก และอิตาลีเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งระบบความมั่นคงร่วมกันของยุโรปตะวันตก ในการประชุมดังกล่าวอีเดนได้เสนอให้นำบีทีโอขึ้นมาฟื้นฟูใหม่โดยจัดตั้งเป็นองค์การสหภาพยุโรปตะวันตก และให้เชิญเยอรมนีตะวันตกกับอิตาลีเข้าเป็นสมาชิกด้วย ดังนั้นในการประชุมครั้งนั้นและครั้งต่อมา ณ กรุงปารีสในเดือนเดียวกัน ที่ประชุมจึงได้ดำเนินการเจรจาและขยายสนธิสัญญาบรัสเซลส์ ค.ศ. ๑๙๔๘ให้ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางยิ่งขึ้นพร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดว่าด้วยสหภาพยุโรปตะวันตกบรรจุไว้ใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreements) ซึ่งเป็นพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญา ทั้งยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อสนธิสัญญาฉบับเดิมเป็นสนธิสัญญาบรัสเซลส์ฉบับแก้ไข (Modified Brussels Treaty) ซึ่งประเทศทั้งเจ็ดคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กได้ลงนามร่วมกัน ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ฉะนั้น ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ เมื่อสนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้จึงเกิดองค์การสหภาพยุโรปตะวันตกขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน (ต่อมาย้ายไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์) และมีองค์กรหลัก ๓ องค์กรคือ สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat) ซึ่งมีเลขาธิการเป็นผู้บริหารสูงสุด คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปตะวันตก (Council of WEU) และสมัชชาแห่งสหภาพยุโรปตะวันตก (Assembly of WEU)

 สนธิสัญญาบรัสเซลส์ฉบับแก้ไขได้ระบุวัตถุประสงค์ของดับเบิลยูอียูไว้ในอารัมภบท ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อสร้างรากฐานอันมั่นคงของยุโรปตะวันตกในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรป ๒. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาติสมาชิกในการต่อต้านนโยบายและการรุกรานใด ๆ ในยุโรปตะวันตกที่อาจเกิดขึ้น และ ๓. เพื่อส่งเสริมเอกภาพและความร่วมมืออย่างแข็งขันในการบูรณาการยุโรป แต่ดับเบิลยูอียูก็เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) ไม่ได้เป็นองค์การเหนือรัฐ (supra-national organization) ดังเช่นอีดีซีเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเกิดจากความล้มเหลวของอีดีซีและการที่อังกฤษซึ่งเป็นต้นคิดไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์การเหนือรัฐที่จะทำให้ชาติสมาชิกเสียอิสรภาพในการดำเนินนโยบายของตน

 อย่างไรก็ดี ดับเบิลยูอียูนับแต่จัดตั้งมาก็ไม่ได้ทำงานในด้านการป้องกันยุโรปแต่ประการใด การทำงานเป็นไปในลักษณะการประชุมหารือร่วมกันเป็นครั้งคราวมาโดยตลอด เพราะชาติสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกของนาโตด้วยให้ความสำคัญแก่นาโตมากกว่า ดับเบิลยูอียูจึงถูกวิจารณ์ว่าจัดตั้งขึ้นเพราะชาติสมาชิกบางประเทศบนภาคพื้นทวีปต้องการนำอังกฤษเข้ามาร่วมมือในการบูรณาการยุโรปในขั้นต่อไปและเพื่อแก้ “ปัญหาเยอรมนี” มากกว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้อังกฤษได้ปฏิเสธการเข้าร่วมในกระบวนการบูรณาการของยุโรปตะวันตกมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นอีซีเอสซีหรืออีดีซีก็ตาม ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสซึ่งเป็นแกนนำสำคัญร่วมกับอังกฤษก็ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันตกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากในการจัดตั้งอีดีซีที่ล้มเหลวไปนั้น กองทัพของเยอรมนีตะวันตกถูกจัดอันดับไว้ในระดับรองลงมาจากกองทัพของชาติสมาชิกอื่นทำให้เยอรมนีตะวันตกไม่ใคร่พอใจนัก แต่เนื่องจากเล็งเห็นผลประโยชน์อื่นที่เหนือกว่าจึงเข้าร่วมในโครงการจัดตั้งอีดีซีด้วย ในคราวนี้ฝรั่งเศสจึงถือโอกาสปรับความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันตกให้ดีขึ้น พร้อมกันนั้นอังกฤษเองก็ต้องการสร้างเครื่องมือค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่เพื่อนบ้านของเยอรมนีตะวันตกในภาคพื้นทวีป เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยินยอมให้เยอรมนีตะวันตกมีกองทัพติดอาวุธตามความประสงค์ของตนและสหรัฐอเมริกา เพราะภายในเวลาไม่ถึง ๑ ปีหลังการล้มเหลวของอีดีซีเยอรมนีตะวันตกก็ได้อธิปไตยอย่างสมบูรณ์และได้รับอนุญาตให้มีกองทัพติดอาวุธ รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโตซึ่งมีผลให้เยอรมนีตะวันตกเข้ามาร่วมมือกับยุโรปตะวันตกมากขึ้น ฉะนั้น ปัญหาการจัดตั้งดับเบิลยูอียูจึงไม่สามารถแยกออกจากปัญหาการบูรณาการยุโรปและปัญหาเยอรมนีได้ นอกจากการประชุมหารือเป็นครั้งคราวแล้ว ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ หลังประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* แห่งฝรั่งเศสยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community–EC)* ของอังกฤษแล้ว อังกฤษได้ใช้การประชุมดับเบิลยูอียูเป็นช่องทางเดียวในการติดต่อกับชาติสมาชิกทั้งหกของอีซี

 ในครึ่งหลังของทศวรรษ ๑๙๗๐ ดับเบิลยูอียูเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยได้จัดตั้งกลุ่มโครงการยุโรปอิสระ (Independent European Programme Group–IEPG) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เพื่อใช้เป็นเวทีกลางสำหรับการหารือร่วมกันในการจัดตั้งหน่วยงานติดอาวุธยุโรป (European Armament Agency) ขึ้นในอนาคตเพราะดับเบิลยูอียูไม่มีกำลังกองทัพของตนเอง ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ ที่ประชุมสุดยอดดับเบิลยูอียูที่กรุงโรมได้มีมติให้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมระหว่างชาติสมาชิกอย่างสม่ำเสมอตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้ชาติสมาชิกได้มีโอกาสหารือร่วมกันในเรื่องความมั่นคงและการป้องกันยุโรปอย่างเป็นอิสระมากขึ้น โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วยดังเช่นการประชุมนาโตการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากแรงผลักดันของประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* แห่งฝรั่งเศสที่ต้องการให้ยุโรปตะวันตกพึ่งพาตนเองได้ เพราะฝรั่งเศสเริ่มไม่ไว้ใจสหรัฐอเมริกาที่อาจไปทำความตกลงกับสหภาพโซเวียตในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยที่พันธมิตรยุโรปตะวันตกไม่มีส่วนรู้เห็นก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงการเข้ามาช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาในกรณีที่ยุโรปถูกรุกรานจากสหภาพโซเวียตด้วยอาวุธนิวเคลียร์จึงยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ความระแวงสงสัยนี้เป็นจริงขึ้นเมื่อสองอภิมหาอำนาจได้ทำความตกลงระหว่างกันในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการประชุมที่กรุงเรคยาวิก (Reykyavik) ประเทศไอซ์แลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๖โดยไม่ได้หารือกับพันธมิตรในยุโรปตะวันตกแต่ประการใด ด้วยเหตุนั้นในต้น ค.ศ. ๑๙๙๐ เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกขึ้นฝรั่งเศสจึงได้พยายามผลักดันให้ดับเบิลยูอียูเข้าไปมีบทบาททางทหารร่วมกับชาติสมาชิกแม้ว่าค่อนข้างจำกัดก็ตาม

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในยุโรปตะวันออกและการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทำให้สหภาพยุโรปตะวันตกซึ่งมีวิลเลิมฟัน เอเคอเลิน (Willem van Eekelen) ชาวดัตช์เป็นเลขาธิการเร่งรีบดำเนินการปรับปรุงบทบาทขององค์การใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ในด้านการป้องกันยุโรปอย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์เดิมของสนธิสัญญาบรัสเซลส์ฉบับแก้ไข และเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกหลังการประชุมหารือระหว่างกันแล้ว ชาติสมาชิกทุกประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรปด้วยต่างเห็นพ้องว่าควรรวมดับเบิลยูอียูเข้ากับประชาคมยุโรปเพื่อให้องค์การทั้งสองเป็นแกนกลางในด้านการป้องกันยุโรปในยุคหลังสงครามเย็นแทนการหวังพึ่งพานาโตแต่เพียงอย่างเดียว

 ในขณะเดียวกัน ประชาคมยุโรปซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการของการเร่งบูรณาการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union–EMU)* ขึ้นให้สำเร็จโดยเร็วภายในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสหภาพการเมือง (Political Union) ที่มีนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของตนเองควบคู่กันไปด้วย เพื่อตอบรับกับบทบาทใหม่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ชาติสมาชิกหลายประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสยังต้องการเข้าไปควบคุมเยอรมนีที่จะเกิดการรวมประเทศครั้งใหม่ (Reunification of Germany) ขึ้นอย่างแน่นอนด้วยเพราะเกรงว่าเยอรมนีซึ่งมีความใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางที่เพิ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์อาจดำเนินการเป็นอิสระในทางทหารที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของยุโรปในอนาคตได้ จึงต้องการนำเยอรมนีที่รวมกันแล้วนี้เข้าสู่กรอบของสหภาพยุโรปเพื่อทำให้เยอรมนีเป็นมิตรกับยุโรปรวมทั้งต้องการทำให้สหภาพยุโรปเป็นศูนย์กลางในด้านการป้องกันและความมั่นคงของยุโรปด้วยด้วยเหตุนั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกซึ่งต้องการการสนับสนุนของมหาอำนาจอื่นเพื่อทำให้การรวมประเทศเกิดขึ้นโดยเร็วจึงฉวยโอกาสผลักดันต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงดับลิน (Dublin) ประเทศไอร์แลนด์ ให้จัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองที่มีนโยบายต่างประเทศและสถาบันความมั่นคงร่วมกันขึ้นโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งที่ประชุมสุดยอดยุโรปได้มีมติไปแล้ว

 ในการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิก (Intergovernmental Conference–IGC) เพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (Treaty on European Union) หรือสนธิสัญญามาสตริกต์ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐–ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ นั้นในส่วนของสหภาพการเมือง ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนความร่วมมือทางการเมืองยุโรปหรืออีพีซี (European Political Cooperation–EPC) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ มาเป็นนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงหรือซีเอฟเอสพี (Common Foreign and Security Policy–CFSP) ในฐานะ “เสาหลักที่ ๒” (Second Pillar) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่จะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความเป็นองค์กรเหนือรัฐในอนาคต และได้พิจารณาเรื่องการนำสหภาพยุโรปตะวันตกมาเป็นเขี้ยวเล็บในด้านการป้องกันยุโรปของซีเอฟเอสพีด้วย โดยโยงสนธิสัญญาบรัสเซลส์ฉบับแก้ไขเข้าสู่กรอบของสนธิสัญญามาสตริกต์ ทั้งนี้เพื่อทำให้ซีเอฟเอสพีมีศักยภาพทางด้านการทหารด้วยเพราะในระหว่างการประชุมเจรจาใน ค.ศ. ๑๙๙๑ สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงและเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) และรัฐเล็กรัฐน้อยที่แยกตัวเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตอีกจำนวนหนึ่งในขณะที่ระบบพันธมิตรทางทหารของสหภาพโซเวียตคือองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* ก็ล่มสลายลงด้วยทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกซึ่งเคยเป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) ในสมัยสงครามเย็นสหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้มีศักยภาพทางด้านความมั่นคงและการป้องกันยุโรปโดยเร็ว ทั้งยังต้องการลดการพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาและนาโตให้น้อยลงด้วย

 ในระหว่างการเจรจาชาติสมาชิกได้อภิปรายในเรื่องการบูรณาการสหภาพยุโรปตะวันตกเข้ากับสหภาพยุโรปอย่างกว้างขวางและใช้เวลานานกว่าจะตกลงกันได้เพราะมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ในขณะที่ฝรั่งเศสกับเยอรมนีสนับสนุนการรวมอย่างเต็มที่ แต่อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกสกลับคัดค้านอย่างแข็งขันโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ (John Major)* แห่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ของอังกฤษซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งและสืบทอดนโยบายเกี่ยวกับการรวมยุโรปต่อจากมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* ต้องการให้เลื่อนการรวมองค์การทั้งสองออกไปให้นานที่สุด เพราะไม่ต้องการผูกพันตนเองกับระบบเหนือรัฐและยังคงเชื่อมั่นในระบบการป้องกันยุโรปของนาโตมากกว่า ในที่สุดอังกฤษก็เป็นฝ่ายชนะ โดยที่ประชุมได้มีมติให้สหภาพยุโรปตะวันตกยังคงเป็นองค์การเอกเทศจากสหภาพยุโรปต่อไป เพราะต้องการประนีประนอมเพื่อให้ร่างสนธิสัญญามาสตริกต์ผ่านมติการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดยุโรปและได้รับการลงนามโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อทำให้สหภาพยุโรปเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก่อน

 อย่างไรก็ดี สนธิสัญญามาสตริกต์ก็ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการรวมและความเชื่อมโยงระหว่างองค์การทั้งสองไว้ในมาตราเจ ๔ (Article J4) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ในกรณีที่สหภาพยุโรปต้องการใช้บริการหรือความร่วมมือทางทหารจากสหภาพยุโรปตะวันตกสหภาพยุโรปสามารถ “ร้องขอ” ให้สหภาพยุโรปตะวันตกเข้ามาร่วมในกระบวนการตัดสินใจและปฏิบัติการได้ทั้งยังระบุไว้ว่า ในอนาคตสหภาพยุโรปตะวันตกจะเข้ามารวมกับสหภาพยุโรปในฐานะสถาบันการป้องกันของสหภาพยุโรปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตกลงร่วมกันของชาติสมาชิกขององค์การทั้งสอง นอกจากนี้สนธิสัญญายังได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์การทั้งสองและนาโตไว้อย่างชัดเจนใน “ปฏิญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปตะวันตกค.ศ. ๑๙๙๒” (Declaration on the Western European Union, 1992) ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้าย ปฏิญญาดังกล่าวระบุถึงพันธกิจในการทำงานร่วมกัน การเตรียมการจัดตั้งองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ในอนาคต พร้อมทั้งระบุว่าการจัดตั้งหรือพัฒนาสถาบันใด ๆ ของสหภาพยุโรปตะวันตกจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการของสหภาพยุโรปทั้งยังระบุว่าสหภาพยุโรปตะวันตกจะเป็นเสาหลักของยุโรปซึ่งเป็นตัวแทนของยุโรปในนาโต การระบุเช่นนี้เป็นการย้ำให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจถึงสมรรถนะในด้านความมั่นคงและการป้องกันยุโรปที่สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมไว้ในกรอบของพันธมิตรข้ามฝั่งแอตแลนติก และเป็นเสมือนสิ่งที่เน้นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปตะวันตกที่โฮเต็ลปีเตอร์สเบิร์ก (Hotel Petersberg) ซึ่งเป็นบ้านรับรองของรัฐบาลชานกรุงบอนน์ (Bonn) อดีตเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก ก็ได้ออกปฏิญญาปีเตอร์สเบิร์ก (Petersburg Declaration) เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงานของดับเบิลยูอียูให้ชัดเจน โดยได้กำหนดภารกิจของดับเบิลยูอียูที่มีต่อสหภาพยุโรปซึ่งเรียกว่า “ภารกิจปีเตอร์สเบิร์ก” (PetersbergTasks) ไว้ว่า สหภาพยุโรปตะวันตกจะมีบทบาททางทหารในด้านมนุษยธรรมการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ การรักษาสันติภาพ และการบริหารจัดการกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างสันติภาพไม่ใช่การป้องกันทั่วไป โดยชาติสมาชิกจะยินยอมให้ใช้กำลังกองทัพและทรัพยากรทางทหารของตนในนามสหภาพยุโรปตะวันตกร่วมกับสหภาพยุโรปได้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๓ สหภาพยุโรปตะวันตกยังได้จัดตั้ง “กลุ่มติดอาวุธสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอีเอจี (Western European Armament Group–WEAG) ขึ้นเพื่อใช้เป็นกองกำลังในการปฏิบัติการทางทหารของตนร่วมกับอียู นอกจากนี้สหภาพยุโรปตะวันตกยังได้รับความร่วมมือจากนาโตอีกทางหนึ่งด้วย โดยที่ประชุมสุดยอดนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๔ ได้ตกลงให้สหภาพยุโรปตะวันตกใช้ยุทโธปกรณ์และสถานที่ของนาโตในการปฏิบัติการร่วมทางทหาร (Combined Joint Task Force) ระหว่างนาโตกับสหภาพยุโรปตะวันตกแต่ที่ประชุมยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์เหล่านั้นว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เพิ่งมาตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอดนาโตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๖

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ที่ประชุมสุดยอดดับเบิลยูอียูที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ยังได้มีมติให้จัดตั้งกองกำลังปฏิบัติการเร็วยุโรป (European Operational Rapid Force–EUROFOR) ขึ้นในดับเบิลยูอียูเพื่อช่วยงานในภารกิจปีเตอร์สเบิร์ก กองกำลังดังกล่าวได้ปฏิบัติการทางทหารร่วมกับกองกำลังของสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๙๘ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ดับเบิลยูอียูยังได้จัดตั้งองค์การติดอาวุธสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอีเอโอ (Western European Armaments Organization–WEAO) ขึ้นอีก ๑ หน่วยงานซึ่งในตอนแรกมีวัตถุประสงค์จะให้เป็นหน่วยงานปฏิบัติการทางทหาร แต่เมื่อปฏิบัติงานจริงกลับจำกัดอยู่เพียงการให้การบริการสนับสนุนทางด้านการวิจัยทางทหารและเทคโนโลยีเท่านั้น

 หลังสนธิสัญญามาสตริกต์มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องหลักของยุโรปในด้านการทหารต่อมาโดยใช้มาตรา ๕ ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า “ในกรณีที่ภาคีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศถูกโจมตีจะถือว่าเป็นการโจมตีภาคีสมาชิกทุกประเทศซึ่งนาโตจะทำการตอบโต้ ทั้งโดยวิธีการทางทหารและวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม” พร้อมกันนั้นสหรัฐอเมริกาก็ได้ปรับบทบาทของนาโตให้เป็นบทบาททางด้านมนุษยธรรมและการรักษาสันติภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าไปแทรกแซงในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกหรือที่อื่นใดก็ตาม ในขณะที่สหภาพยุโรปและสหภาพยุโรปตะวันตกยังมีบทบาทในวิกฤตการณ์เหล่านั้นค่อนข้างจำกัด ดังจะเห็นได้ว่าการยุติความขัดแย้งในสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* โดยการทำความตกลงเดย์ตัน (Dayton Agreement)* ค.ศ. ๑๙๙๕ ก็เกิดขึ้นจากความสามารถของสหรัฐอเมริกาโดยผ่านนาโตและองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* มากกว่าอียูและดับเบิลยูอียู ในขณะที่ชาติสมาชิกอียูได้เข้าร่วมปฏิบัติการในวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ในฐานะสมาชิกนาโต ด้วยเหตุนั้นจึงเกิดการตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับความตั้งใจจริงของชาติสมาชิกหลักบางประเทศว่าต้องการให้อียูมีประสิทธิภาพในด้านการป้องกันจริงหรือไม่

 ในการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อทบทวนสนธิสัญญามาสตริกต์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๖–๑๙๙๗ นั้น เรื่องการปรับบทบาทของซีเอฟเอสพีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและการโยงดับเบิลยูอียูเข้าสู่กรอบของอียูอย่างเต็มที่ก็ยังคงเป็นระเบียบวาระสำคัญอยู่ ในการนี้ชาติสมาชิกได้เสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการตัดสินใจของสหภาพยุโรปโดยใช้ระบบการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขหรือคิวเอ็มวี (Qualified Majority Voting–QMV) ในเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ และความมั่นคงให้มากขึ้นแทนการใช้มติเอกฉันท์ ทั้งนี้เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านั้นผ่านมติที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of Ministers of the EU) ได้รวดเร็วขึ้นแต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ผ่านมติของที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงอัมสเตอร์ดัมใน ค.ศ. ๑๙๙๗ เพราะชาติสมาชิกหลายชาติไม่เห็นด้วยจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระบวนการตัดสินใจของซีเอฟเอสพี ส่วนเรื่องการควบรวมดับเบิลยูอียูเข้ากับสหภาพยุโรปอย่างเต็มที่ก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะผู้แทนอังกฤษยืนกรานไม่ให้การรวมเกิดขึ้นเหมือนเดิม อีกทั้งมีชาติสมาชิกบางประเทศไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมในกิจกรรมด้านการป้องกันและความมั่นคงของอียูอย่างมาก ประเทศเหล่านี้ได้แก่ ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน (มีนโยบายต่างประเทศเป็นกลางมาแต่สมัยสงครามเย็น) เดนมาร์ก [ได้ลงนามในมาตรายกเว้น (opt-out clause) ในสนธิสัญญามาสตริกต์เพื่อสงวนสิทธิ์ไม่เข้าร่วมในการใช้กำลังทางทหารของซีเอฟเอสพี] และไอร์แลนด์ (ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต) นโยบายของประเทศเหล่านี้จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการรวมองค์การทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะเรื่องการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการป้องกันและความมั่นคงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและผลประโยชน์ของชาติสมาชิก

 ฉะนั้น ที่ประชุมจึงเพียงแต่กำหนดมาตรการหลายอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติการร่วมของสหภาพยุโรปตะวันตกกับสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น เพื่อวางพื้นฐานการรวมองค์การทั้งสองเข้าด้วยกันอีกระดับหนึ่ง โดยบรรจุมาตรการเหล่านี้ไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปตะวันตก ค.ศ. ๑๙๙๗ (Declaration on Western European Union, 1997) ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายสนธิสัญญาเหมือนสนธิสัญญามาสตริกต์ อย่างไรก็ดี “สนธิสัญญาสำหรับยุโรป” (Treaty for Europe) หรือ “สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม” ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญามาสตริกต์ครั้งแรกก็ยังได้แต่งตั้งตำแหน่งผู้แทนระดับสูงสำหรับนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง(High Representative for Common Foreign and Security Policy) ขึ้นเพื่อให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของซีเอฟเอสพีที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและเลขาธิการดับเบิลยูอียูในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้แทนระดับสูงเข้าไปควบคุมกิจการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงขององค์การทั้งสอง ทั้งยังได้ผนวกภารกิจปีเตอร์สเบิร์กเข้ากับตัวสนธิสัญญาและกำหนด “ยุทธศาสตร์ร่วม” (Common Strategies) ขององค์การทั้งสองขึ้นด้วยนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในกระบวนการควบรวมดับเบิลยูอียูเข้ากับสหภาพยุโรป

 ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๙ หลังสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมมีผลบังคับใช้แล้ว คาเบียร์ โซลานา (Javier Solana)* ชาวสเปน อดีตเลขาธิการนาโตก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนระดับสูงคนแรกของซีเอฟเอสพีและเป็นเลขาธิการคณะมนตรีซึ่งได้ควบตำแหน่งเลขาธิการดับเบิลยูอียูด้วย ทำให้เขาสามารถพัฒนานโยบายความมั่นคงขององค์การทั้งสองได้อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น โซลานาได้พัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ในชื่อ “A Secure Europe in a Better World” และจัดตั้งเครื่องมือในการดำเนินงานของซีเอฟเอสพีขึ้น ได้แก่ “นโยบายความมั่นคงและการป้องกันยุโรป” (European Security and Defence Policy–ESDP) เพื่อใช้ในการจัดการกับวิกฤตการณ์และป้องกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านทหารและพลเรือน และในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๐ ที่ประชุมสุดยอดดับเบิลยูอียูที่เมืองมาร์แซย์ (Marseille) ประเทศฝรั่งเศส ยังได้มีมติให้โอนหน่วยงานและกิจกรรมของภารกิจปีเตอร์สเบิร์กเข้าไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอีเอสดีพีทั้งหมด ทำให้สหภาพยุโรปสามารถเข้าไปมีบทบาทในการจัดการกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่านในช่วงนั้นได้มากขึ้น ทั้งยังได้เข้าไปมีส่วนในกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางร่วมกับสหประชาชาติมากขึ้นด้วย

 ต่อมาสนธิสัญญานีซ ค.ศ. ๒๐๐๑ ซึ่งเป็นการแก้ไขสนธิสัญญามาสตริกต์ครั้งที่ ๒ และเติมเต็มในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมยังได้ขยายขอบเขตการใช้การออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในกระบวนการตัดสินใจของซีเอฟเอสพีมากขึ้น ทั้งยังได้จัดตั้ง “คณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคง” (Political and Security Committee) ขึ้นในกรอบของซีเอฟเอสพีด้วยเพื่อให้ช่วยทำงานด้านการต่างประเทศและความมั่นคง รวมทั้งดูแลการปฏิบัติการด้านพลเรือนของอีเอสดีพี นับว่าความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบความมั่นคงของสหภาพยุโรปได้ก้าวหน้าไปมากในช่วงต้นทศวรรษ ๒๐๐๐

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ได้มีการจัดทำสนธิสัญญาลิสบอนหรือ “สนธิสัญญาปฏิรูป” (Reform Treaty) ขึ้น เพื่อใช้แทนสนธิสัญญาจัดทำรัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป (Treaty establishing a Constitution for Europe) ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้เพราะไม่ผ่านการให้สัตยาบันจากชาติสมาชิกหลายประเทศ สนธิสัญญาฉบับนี้มีความสำคัญมากในกระบวนการบูรณาการสหภาพยุโรป เพราะได้ยกเลิกระบบ ๓ เสาหลัก (Three Pillar System) ของสนธิสัญญามาสตริกต์ที่ประกอบด้วยประชาคมยุโรป (ซึ่งเป็นระบบเหนือรัฐ) นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล) และความร่วมมือทางด้านยุติธรรมและกิจการภายใน [(Justice and Home Affairs–JHA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล] โดยให้สถาบันหลักทั้งสามรวมเข้าด้วยกันในนามสหภาพยุโรปทั้งหมดซึ่งมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลร่วมกัน (consolidated legal personality) ทั้งยังได้แต่งตั้งตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) ซึ่งเป็นเสมือนประมุขของสหภาพยุโรปเป็นตำแหน่งประจำซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๒ ปี ๖ เดือน ตำแหน่งนี้เป็นผู้แทนของสหภาพยุโรปในเวทีโลกด้วย รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานของสหภาพยุโรปหลายประการ

 ในด้านการต่างประเทศและความมั่นคง สนธิสัญญาลิสบอนได้รวมตำแหน่งหน้าที่ของผู้แทนระดับสูงสำหรับนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงเข้ากับตำแหน่งกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Commissioner on External Relations) ซึ่งดูแลเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปมาแต่ต้นเป็นตำแหน่งเดียวกันคือ “ผู้แทนระดับสูงของสหภาพเพื่อการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง” (High Representative of the Union for Foreign Affairs and Security Policy) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงทั้งหมดของสหภาพยุโรป ทั้งยังได้รวมสหภาพยุโรปตะวันตกเข้ากับสหภาพยุโรปด้วย โดยได้กำหนดให้มีการควบรวมหรือถ่ายโอนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ากับหน่วยงานของสหภาพยุโรปทั้งหมดและจัดตั้งหน่วยงานใหม่ทั้งทางด้านพลเรือนและการทหารเพื่อทำงานทางด้านความมั่นคงและการป้องกันในนามสหภาพยุโรปอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งได้กำหนดมาตราต่าง ๆ ที่ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายร่วมด้านความมั่นคงและการป้องกันไว้ในสนธิสัญญาด้วย นับว่าความพยายามในการบูรณาการสหภาพยุโรปตะวันตกเข้ากับสหภาพยุโรปได้บรรลุผลในสนธิสัญญาลิสบอนนี้

 ในวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ เมื่อสนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้ แคเทอรีน แอชตัน (Catherine Ashton)ชาวอังกฤษอดีตกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (European Commissioner for Trade) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนระดับสูงคนแรกของสหภาพเพื่อการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และเป็นรองประธานคนที่ ๑ ของคณะกรรมาธิการยุโรป (First Vice President of the European Commission) นับจากนั้นมาก็ได้มีการดำเนินการควบรวมและจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทางด้านความมั่นคงและการป้องกันของสหภาพยุโรปเป็นระยะๆเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาลิสบอนและสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ภัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม การก่อการร้ายข้ามชาติ การลักลอบสิ่งเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติในขณะที่สหภาพยุโรปตะวันตกก็ดำเนินการยุบเลิกสถาบันต่างๆของตนเป็นระยะ ๆ และในต้น ค.ศ. ๒๐๑๐ สเปนในฐานะประธานของสหภาพยุโรปตะวันตกก็ได้ประกาศในนามของชาติสมาชิกสามัญ ๑๐ ประเทศ ว่าชาติสมาชิกทั้งปวงได้ตัดสินใจร่วมกันที่จะลาออกจากสนธิสัญญาบรัสเซลส์ฉบับแก้ไข และปิดองค์การสหภาพยุโรปตะวันตกภายในเวลา ๑๕ เดือน ต่อมาในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๑ สหภาพยุโรปตะวันตกจึงได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าการรวมสหภาพยุโรปตะวันตกเข้ากับสหภาพยุโรปได้บรรลุผลอย่างสมบูรณ์.



คำตั้ง
Western European Union–WEU
คำเทียบ
สหภาพยุโรปตะวันตก
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- กำแพงเบอร์ลิน
- ความตกลงเดย์ตัน
- ความตกลงปารีส
- ความมั่นคงร่วมกัน
- โซลานา, คาเบียร์
- เดอ โกล, ชาร์ล
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
- เบวิน, เออร์เนสต์
- ประชาคมยุโรป
- ปัญหาเยอรมนี
- แผนเปลอวอง
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคอนุรักษนิยม
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- เมเจอร์, จอห์น
- สงครามบอสเนีย
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญานีซ
- สนธิสัญญาบรัสเซลส์
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สนธิสัญญาลิสบอน
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สภาแห่งยุโรป
- สหประชาชาติ
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- สหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียู
- สหภาพยุโรปหรืออียู
- หลักการทรูแมน
- องค์การป้องกันสหภาพตะวันตก
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- อีเดน, รอเบิร์ต แอนโทนี
- อีเดน, แอนโทนี
- เอสดี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1955–2011
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๙๘–๒๕๕๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-